ความสงบนิ่งแห่งจิต
เกศสุดา ชาตยานนท์
เกศสุดา ชาตยานนท์
เกศสุดา ชาตยานนท์ : ผู้เขียนใช้โยคะเพื่อการฝึกสติและการบำบัดผู้ที่มีความเครียด มีปัญหาทางจิตใจ ความไม่สมดุลในการใช้ชีวิต เน้นให้ผู้ฝึกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อตัวเองและผู้อื่น ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการชุมชนเยียวยานานาชาติแห่งการเจริญสติ มูลนิธิชีวิตใหม่ จ. เชียงราย
ในห้องเรียนโยคะ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ผู้ฝึกจะได้ทุ่มเทช่วงเวลาทั้งหมดที่มีอยู่ ได้กลับมาอยู่กับร่างกายอย่างเต็มที่
ความหมายของการอยู่กับร่างกายคืออะไร? เพราะร่างกายก็อยู่กับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว เราเข้าไปเรียนโยคะได้ก็เพราะร่างกายช่วยให้เราไป ช่วยให้เราฝึกท่าทางต่าง ๆ อันนี้ก็ถือว่าจริง แต่ความหมายที่พูดว่าให้กลับมาอยู่กับร่างกายอย่างเต็มที่นั้น ผู้เขียนหมายถึงความรู้สึกตัวเกี่ยวกับร่างกาย และอยากจะโยงมาสู่วิถีแห่งโยคะ โยงไปเพื่อให้ช่วงเวลาในการฝึกโยคะแต่ละครั้งเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ ทุกระยะทางของการฝึกนั้นเติมเต็มเป้าหมาย
เป้าหมายของการฝึกเพื่อให้จิตหลอมรวมไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับกาย และสิ่งรอบๆตัว และนำไปสู่ความสงบนิ่ง ไปสู่จิตว่าง ไร้ความคิดปรุงแต่งใด ๆ มีเพียงการเลื่อนไหลไปคู่กันระหว่างกายกับจิต
ธรรมชาติของจิตไม่สามารถที่จะอยู่นิ่ง ๆ หากเราไม่ฝึกฝน จิตนั้นไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องหาที่ยึด เกาะเกี่ยว วิ่งไปทางโน้น ทางนี้ คิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตหรือเราอาจจะเรียกว่า ความคิดนั้นทำงานตลอดเวลา ศาสตร์แห่งโยคะนั้นพยายามที่จะหาหลากหลายวิธีและหนทางที่จะควบคุมความแส่ส่ายของจิต
ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ เป็นไปได้ว่าเราไม่ได้มีโอกาสได้สำรวจร่างกายตลอดเวลา เราอาจจะไม่เคยรู้สึกว่าเรานั่งแบบไหน กระดูกสันหลังตั้งตรงไหม ไหล่เท่ากันหรือเปล่า คอเอียงหรือไม่ น้ำหนักที่วางลงที่ก้นกบ หรือสะโพกเท่ากันไหม เท้าเราวางอยู่ตรงไหน ไหล่เราผ่อนคลายหรือไม่ ใบหน้าเกร็งหรือเปล่า เวลาเดิน น้ำหนักเท้าที่วางลงกับพื้นเป็นอย่างไร แขนแกว่งสบาย ๆ มากน้อยเพียงไร ลมหายใจเป็นอย่างไร ส่วนไหนตึง ส่วนไหนสบาย ฯลฯ นี่เองคือการอยู่กับร่างกาย
ระหว่างการฝึกไม่ว่าจะเป็นอาสนะ ฝึกลมหายใจหรือฝึกเทคนิคใดๆ ก็ตาม ผู้เขียนมักจะคอยเตือนให้ผู้ฝึกสังเกตการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงไปของร่างกาย ตามดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะยกแขน ลดแขน ยืดหน้าอก แผ่นหลัง โน้มตัวไปข้างหน้า แอ่นไปข้างหลัง ฯลฯ ส่วนในของร่างกายตึง ส่วนไหนที่สบาย ยิ่งถ้าเราได้ฝึกท่ามีการเคลื่อนไหวของขาทีละข้าง หรือแขนที่ละข้าง เช่น การยกขึ้นลงในการฝึกท่านอน ในท่าคันไถครึ่งตัว หลังจากยกขาข้างขาวขึ้นทีละช่วงและค้างไว้ แล้วลดลง
ผู้เขียนก็จะแนะนำให้ผู้ฝึกได้หยุดสังเกตร่างกาย ด้วยการเปรียบเทียบน้ำหนักขาทั้งสองข้างก่อน สังเกตว่ามีความต่างกันหรือไม่ นี่คือประโยชน์ในการที่จะช่วยให้เราช้าลง เวลาที่เราช้าลงจะทำให้เราสังเกต รับรู้ สัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้ดีขึ้น หรือแม้แต่สัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราได้ดีขึ้นด้วย
ในขณะเดียวกันการรับรู้นั้น ก็ต้องเป็นการรับรู้ล้วน ๆ เช่น อาจจะรู้สึกว่าขาข้างขวาหนัก อุ่น ๆ ร้อน ๆ ข้างซ้ายเบา เย็น ลมหายใจเต้นเร็ว หรือช้า เราอาจจะมีความคิดเกิดขึ้นก็ได้ว่า อ้อ นั่นคือการไหลเวียนของเลือด หรือเรากำลังเหนื่อย เพราะลมหายใจเต้นเร็ว แต่เราก็ฝึกที่จะให้ความคิดจบอยู่ตรงนั้น เรารู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้น แต่เราก็กลับมาสังเกตความรู้สึกของร่างกาย และลมหายใจที่ค่อย ๆ เต้นช้าลงไปในที่สุด
การฝึกฝนเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ฝึกเกิดการตระหนักรู้ถึงความจริงแท้ภายในตัวเอง สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่อะไรที่เหนือมหัศจรรย์ แต่เป็นการพัฒนาระบบประสาทสัมผัส เราได้เรียนรู้ ขอบเขต ความเป็นไปของความคิด ความรู้สึกของร่างกายและความรู้สึกทางอารมณ์ และนำพาไปสู่การกระทำต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างสมดุล และยังจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น มีสมาธิ ความสามารถในการจดจ่อ ใส่ใจ การตั้งจิตในสภาวะที่เหมาะสมและมีสุขภาพที่ดี
ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ